Brand Audit: กรณีศึกษาบริษัท AIS

บทความโดย บุริม โอทกานนท์

ตั้งแต่เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2533 บริษัทแอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส (AIS) ก็ถือครองยอดผู้ใช้บริการเป็นอันดับหนึ่งของเมืองไทยมาโดยตลอดระยะเวลา 19 แต่หลังจากปี 2542 ที่ทางบริษัทได้เริ่มเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ Pre-paid ก็ทำให้สภาพตลาดของโทรศัพท์เคลื่อนที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Pre-paid นั้นเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเกมการแข่งขันในตลาดนี้จากผู้เล่นหลักอีก 2 รายคือ dtacและ True Move ก็หันลงมาแข่งขันช่วงชิงลูกค้ากันในตลาด จนทำให้รายได้จากตลาด pre-paid เริ่มแซงนำตลาด Post-paid อย่างทิ้งกันเป็นเท่าตัว ปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาดเชิงรายได้นั้น AIS ถือครองอยู่ประมาณ 52% DTAC 32% True Move 13% และ Hutch 3%ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า ในตลาดนี้ในปี 2552 ตลาดจะคงยังเติบโตอยู่อีกประมาณ 3%-5% ลดลงจากปี 2551 ที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 6% และมีมูลค่าตลาดประมาณ 159,000 ล้านบาทในปี 2551

ถึงแม้ AIS จะมียอดผู้ใช้สูงถึง 26 ล้านเลขหมายในปี 2551จากกตลาดรวมประมาณ 59 ล้านเลขหมาย แต่เงื่อนไขทางการตลาดที่ทำให้ทาง AIS ยังเป็นกังวลนั่นคือสัดส่วนของลูกค้าในระบบ Pre-paid นั้นมีอยู่ในอัตราส่วนที่สูงกว่า Post-paid กว่า 8 เท่าหรืออยู่ในอัตราส่วน 80:10 ซึ่งปริมาณของหมายเลข Pre-paid ที่สูงอยู่ในระดับนี้ทำให้เป็นการยากในการพยากรณ์รายได้ที่จะเกิดขึ้นให้มีความแม่ยำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงการวางแผนทำกิจกรรมทางการตลาดเนื่องจากลูกค้า Pre-paid นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงหรือหันไปใช้บริการของคู่แข่งได้ง่ายกว่าลูกค้าในกลุ่ม Post-paid หรือกลุ่มผู้ใช้โดยจ่ายรายเดือนมาก

ดังนั้นเพื่อที่จะรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ AIS จึงต้องพยายามที่จะเพิ่มจำนวนของ Post-paid ขึ้นโดยหวังว่าการทำกิจกรรมการตลาดครั้งใหม่นี้นอกจากจะช่วยให้ได้เลขหมายในลูกค้ากลุ่ม Post-paid มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นแล้วกิจกรรมการตลาดยังเป็นโอกาสดีในการช่วงชิงลูกค้าจากผู้ให้บริการรายอื่นๆ มาเป็นลูกค้าของตนเองด้วย ในท้ายที่สุดแล้ว AIS ต้องการให้ผู้ใช้บริการรับรู้ถึงความใกล้ชิด สนิทสนม ผูกผันหรือในภาษาอังฤกษใช้คำว่า Brand Intimacy เพื่อที่จะกลายเป็นแบรนด์ในใจอันดับหนึ่งของกลุ่มเป้าหมาย

แนวคิดของกิจกรรมทางการตลาดที่ AIS ทำจึงมุ่งเน้นไปที่การ Refreshing Brand เพื่อทำให้แบรนด์ AIS สามารถจับต้องได้มากขึ้นและทำลายกำแพงความรู้สึกที่มีอยู่ในใจผู้บริโภคที่มองเห็นแต่เรื่องของการใช้งาน (Functional Benefit) อยู่ห่างไกลจากผู้ใช้ มาสร้างความรู้สึกการรับรู้ด้านอารมณ์ (Emotional Benefit) ให้มากขึ้นโดยทำให้แบรนด์ของกลุ่ม AIS นั้นมีความทันสมัย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของกลุ่มผู้ใช้มาขึ้น สร้างประสบการณ์ในการใช้งาน เสริมด้วยบริการใหม่ที่บ่งบอกถึงคุณค่าและประสิทธิภาพของการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่ม AIS และในท้ายที่สุดทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกถึงความอบอุ่น ใกล้ชิด จริงใจ เป็นกันเอง เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของคน และ รักในแบรนด์

กิจกรรมการตลาดใหม่ในครั้งนี้ AIS ลงงบประมาณกว่า 88 ล้านบาท โดยได้เริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยน Logo และ Slogan ให้มีความทันสมัยมากขึ้น และปรับเปลี่ยนสโลแกนจากเดิมเครือข่ายของคุณ ทุกที่ ทุกเวลามาเป็นอยู่เคียงข้างคุณและสร้าง Mascot ขึ้นมาชื่อน้องอุ่นใจเพื่อให้เป็นผู้ดำเนินเรื่องในกิจกรรมการตลาดของการ Refresh Brand นอกจากนี้ยังมีกิจการตลาดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการ Refresh Brand ของ GSM Advance โดยการเปลี่ยนให้ดูทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งกิจกรรมการตลาดของแบรนด์สนับสนุนอีก 2 แบรนด์คือ 1-2-Call และ สวัสดี

เพื่อที่รู้ว่ากิจกรรมการตลาดที่ทาง AIS ได้ลงทุนลงแรงไปนั้นได้ผลตอบรับเป็นอย่างไร ทีมนักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาดของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ลงทำ Brand Audit ภาคสนามกับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งผลลัพธ์จากกลุ่มตัวอย่างที่ทางทีมศึกษาสาขาการตลาดได้พบมานั้นอาจจะไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เป็นตัวแทนของผู้ใช้บริการ AIS ทั้งหมดแต่อย่างน้อยผลลัพธ์ที่ได้มานั้นก็บ่งบอกในระดับหนึ่งได้ว่า ทีมบริหารของทาง AIS ยังต้องมีโจทย์ที่ต้องนำไปขบคิดต่อเพื่อจะทำให้ Brand AIS นั้นสามารถเป็นแบรนด์ที่อยู่เคียงข้างคุณได้อย่างแท้จริง

สำหรับผลลัพธ์ที่ได้จากการทำ Brand Audit เมื่อเดือนเมษายน 2552 นั้นพบว่าร้อยละ 63% ของผู้ใช้บริการ AIS นั้นรับรู้ว่ามีภาพยนต์โฆษณาที่ส่งสารของความเป็นเพื่อนที่ทาง AIS ต้องการที่จะสื่อออกไป ตามด้วยการมีเครือข่ายที่มีคุณภาพ 19% และการอยู่เคียงข้างคุณ 11% โดย 62.5% ของกลุ่มตัวอย่างรับรู้ว่าน้องอุ่นใจเป็นตัวแทนของ AIS โดยที่สามลำดับแรกของการใช้งาน AIS ที่กลุ่มตัวอย่างได้ระบุถึงคือ สัญญาณชัด โทรเข้าออกง่าย และการมีเครือข่ายคลอบคลุม ในขณะที่ความรู้สึกทางอารมณ์ที่ผูกผันอยู่กับแบรนด์ AIS (Brand Association) ที่ทางทีมนักศึกษาได้เขียนออกมาเป็น Mind Map พบจุดน่าสนใจก็คือความเกี่ยวพันของ AIS กับคุณทักษิณ

ถึงแม้ว่าคุณทักษิณจะได้ขายธุรกิจนี้ให้กับบริษัทเทมาเส็ก ไปนานแล้วก็ตาม ภาพของคุณทักษิณนั้นติดอยู่กับแบรนด์ AIS ซึ่งภาพดังกล่าวยังสอดคล้องกับการทำ Focus Group เรื่องแบรนด์ GSM กับกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ได้ทำไปเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2552 ผลจาก Focus Group ในครั้งนั้นพบว่าเรื่องราวทางการเมืองกับ AIS นั้นยังเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก และมีแนวโน้มว่าเรื่องดังกล่าวจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ AIS ในเชิงลบ และถึงแม้เรื่องการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีประเด็นให้โต้เถียง ขัดแย้งกันมามาก แต่สิ่งเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่ติดอยู่ในใจของกลุ่มตัวอย่างหลายคนที่ได้ทำการสำรวจ จนทำให้พวกเขาปฏิเสธที่จะใช้บริการของ AIS ถึงแม้ว่า ข้อเสนอที่ AIS หยิบยื่นให้กับลูกค้านั้นจะดีเพียงใด และจะเหนือกว่าคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน

เมื่อ AIS กำหนดน้องอุ่นใจเป็นตัวแทนบริษัทที่จะคอยเล่าเรื่องราวดีๆ ของบริษัทให้กับกลุ่มเป้าหมาย จึงมีคำถามเกี่ยวกับภาพความเกี่ยวพันของน้องอุ่นใจกับสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างคิดถึง (Association) ซึ่งจากการสำรวจในครั้งนี้พบว่า ภาพลักษณ์เชิงบวกของน้องอุ่นใจนั้นมีความเกี่ยวพันกับ สิ่งดีๆ ความอบอุ่น สัญาณดี ความช่วยเหลือ และเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งสัญญาณเชิงบวกด้านนี้คงเป็นสิ่งชี้ที่ให้เห็นว่า น้องอุ่นใจได้เริ่มสร้างความผูกผันและการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายของ AIS ได้ตรงตามที่ผู้บริหารได้กำหนดเอาไว้

และในเรื่องสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับความเป็น Brand Intimacy โดยได้สอบถามในสี่ประเด็นคือ ความภักดีของลูกค้า AIS (Loyalty) ความรู้สึกภูมิใจเมื่อใช้แบรนด์ AIS (Brand Attachment) ความเป็นกลุ่มพวกเดียวกัน (Community) และความผูกผัน (Engagement) ผลของการสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างพบว่า ในเรื่องของความภักดีต่อแบรนด์พบว่าลูกค้า AIS จำนวนถึง 58% คิดที่จะใช้แบรนด์ AIS ต่อไป แต่ 28% ที่ไม่แน่ใจว่าจะใช้ต่อหรือไม่ ด้านความรู้สึกภูมิใจเมื่อใช้แบรนด์ AIS นั้นลูกค้า 43% รู้สึกภูมิใจที่ใช้แบรนด์ AIS

ในขณะที่มีลูกค้า AIS มีจำนวนถึง 50% ที่รู้สึกเฉยๆ ที่ใช้แบรนด์ AIS ด้านความเป็นกลุ่มพวกเดียวกันพบว่ามีลูกค้า AIS ถึง 58% ที่ไม่รู้สึกว่าผู้ที่ใช้ AIS เป็นกลุ่มหรือพวกเดียวกัน และในด้านสุดท้ายคือ ความผูกผันพบว่ามีผู้ใช้บริการ AIS เพียง 15% ที่พร้อมชี้แจงและให้เหตุผลหากมีผู้พูดถึงแบรนด์ในแง่ลบ ในขณะเดียวกันผู้ใช้บริการ AIS จำนวนสูงถึง 50% ที่ไม่แนะนำให้คนรอบข้างใช้ต่อ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจบ่งบอกถึงว่าผู้ใช้บริการ AIS นั้นยังมีความผูกผัน (Engagement) กับ AIS ในระดับที่ยังต้องการการปรับปรุงอีกมาก

ข้อมูลที่ได้การทำ Brand Audit ของนักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยในครั้งนี้เป็นเสมือนภาพฉายให้กับธุรกิจในทุกธุรกิจตระหนักว่า บริษัทนั้นควรจะต้องตรวจสอบสุขภาพของแบรนด์ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ กิจกรรมการตลาดหลายอย่างที่อุตส่าห์ ลงเงิน ทุ่มแรง ทุ่มใจไปนั้น ได้รับผลตามที่ต้องการหรือปรารถณาหรือไม่ แบรนด์ที่ไม่เคยตรวจสอบสุขภาพเลยก็เหมือนกับคนที่ไม่เคยตรวจเช็คร่างกาย บางครั้งที่สุขภาพดูเหมือนจะดี แต่มีโอกาสเกิดโรคร้ายก่อตัวแบบเฉียบพลัน ถึงขนาดต้องล้มหมอนนอนเสื่อเกิดขึ้นกันมาได้ สุดท้ายคงเป็นคำถามที่ว่าแบรนด์ของท่านนั้นได้เคยตรวจสอบสุขภาพครั้งสุดท้ายไปเมื่อไร

อ้างอิง

1. พิมพ์ชนก ชูชมชื่น, เอกภูมิ อารมณ์เสรี, กรรณิกา เริ่มรักษ์, ฐิติมา วรชาญชัย, นันทพร เนตรงา, ปวีณา หวังประเสริฐ,
พิชญ์สินี คุปตะวาณิช, สริญญา แท่นแก้ว (2009), AIS Brand Audit, วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล. เมษายน.

2. e-Learning Focus group (2009), วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล. กุมภาพันธ์

3. http://www.ryt9.com/s/prg/523532/

4. http://www.siamturakij.com/home/news/display_news.php?news_id=413332239

5. http://blog.positioningmag.com/blogs/special4web/archive/2009/02/05/AIS-refresh-brand.aspx

6. http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=77329

บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Strategy+Markeing (S+M) Vol. 8 Issue 088, June 2009.